ยางรถยนต์และล้อ
ในปัจจุบันยางรถยนต์ที่มีให้เลือกในท้องตลาดนั้นก็มีหลากหลายยี่ห้อ เช่น บริดสโตน กู๊ดเยียร์ มิชลิน โยโกฮาม่า เป็นต้น ทั้งยี่ห้อชั้นนำจากญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และจากฝั่งอเมริกาก็ตาม มีให้เลือกกันหลากหลายขนาดของล้อ และตามการใช้งาน ด้วยหน้าที่หลักๆ ของยางรถยนต์คือ ทำให้รถเกาะถนน และไม่ทำให้รถส่ายไปมา เมื่อเวลาเบรกหรือเลี้ยว ในปัจจุบันเทคโนโลยีการออกแบบยาง ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน ดีกว่าแต่ก่อนมาก ยางรถยนต์ถูกแบ่งออกเป็นหลายๆชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นยางสำหรับรถยนต์นั่ง ยางสำหรับรถกระบะ รถตู้ ยางสำหรับรถขับเคลื่อน 4 ล้อ (4X4) และยางสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสาร
ยางรถยนต์ทำมาจากยางธรรมชาติผสมกับยางสังเคราะห์ ผงคาร์บอน น้ำมัน สารเคมี และอื่นๆ เสริมความแข็งแรงด้วยชั้นของผ้าใบที่ทำมาจากเส้นด้ายไนลอน หรือโพลีเอสเตอร์ และเส้นลวดเหล็ก โครงสร้างของยางประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ คือ หน้ายาง ไหล่ยาง แก้มยาง และขอบยาง
หน้ายาง
ในส่วนของหน้ายาง เป็นส่วนที่สัมผัสกับถนน เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน หรือยึดเกาะถนน หน้ายางของรถยนต์ทั่วไปจะทำเป็นดอกยาง และร่องยางเอาไว้เพื่อใช้ในการรีดน้ำออกจากผิวถนน และผลักดันกับผิวถนน
หน้ายางรถยนต์ทั่วไปมีลวดลายเรียกว่าดอกยาง (Tyre Threads) ดอกยางประกอบด้วยรอยเส้นเป็นร่องๆ และคดหยักเป็นรูปฟันปลา เพื่อช่วยซับน้ำที่ผิวถนน และปล่อยน้ำออกไปทางด้านหลังในขณะที่ล้อหมุนไปข้างหน้า เป็นชิ้นส่วนเดียวของรถที่สัมผัสกับพื้นถนน เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาความปลอดภัย ยางรถยนต์ หากแบ่งตามลักษณะของการเก็บลมจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ แบบที่มียางใน (Tube Tyre) และแบบไม่มียางใน (Tubeless Tyre) ส่วนโครงสร้างของยางจะเป็นแบบเส้นลวด ที่มีความทนทานสูง แข็งแรง หน้ายางมีการขยับหรือดิ้นน้อยลง ดอกยางก็สึกหรอน้อย
ไหล่ยาง
ไหล่ยาง เป็นส่วนต่อระหว่างหน้ายางกับแก้มยาง ไหล่ยางจะช่วยในการระบายความร้อนออกจากหน้ายาง และแก้มยาง
แก้มยาง
แก้มยาง เป็นส่วนที่เป็นชั้นผ้าใบหุ้มด้วยยาง และมีลมดันจากภายในเพื่อให้ยางรักษารูปร่าง แก้มยางเป็นส่วนที่มีรับแรงกดจากน้ำหนักรถ และแรงดันด้านข้างจากการเลี้ยวรถ นอกจากนี้แก้มยางยังเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่น และเกิดความนุ่มนวลในการขับขี่
ขอบยาง
ขอบยาง เป็นส่วนที่รัดกับขอบของกระทะล้อให้ยาง และล้อกระทะล้อยึดติดเป็นชิ้นส่วนเดียวกัน และป้องกันการรั่วของลมออกจากยาง (กรณียางที่ไม่มียางใน) โครงสร้างของยางเมื่อแยกตามลักษณะของการจัดวางเส้นใยของชั้นผ้าใบ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ Diagonal Bias, Belted Bias และ Radial
ดอกยาง
ดอกยางแบ่งออกเป็น 2 แบบ
1. ดอกยางแบบ 2 ทิศทาง
เป็นลักษณะของลายดอกยางที่จะสามารถสลับยางได้ในทุกตำแหน่งล้อของรถ ลักษณะดอกยางทั้ง 2 ด้านจะสวนทิศทางกัน หากเป็นการขับขี่ทั่วไป ไม่เน้นความเร็วสูง ดอกยางลักษณะนี้สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างดี
2. ดอกยางทิศทางแบบทิศทางเดียว (Uni-Direction)
ลายของดอกยางจะถูกบังคับให้หมุนไปในทิศทางเดียวเท่านั้น โดยมีลูกศรบอกทิศทางการหมุนอยู่ที่แก้มยางทั้ง 2 ด้าน ดังนั้น การสลับยางจะสลับได้เพียงด้านเดียวเท่านั้น เช่น สลับด้านหน้าขวากับหลังขวา หรือด้านหน้าซ้ายกับหลังซ้าย เว้นแต่จะถอดตัวยางออกจากกระทะล้อเดิมไปใส่กับกระทะล้อฝั่งตรงกันข้าม แต่ต้องจัดวางทิศทางการหมุนของดอกยางให้ถูกต้องเช่นเดิม มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้ทิศทางการหมุนของยางเปลี่ยนกลับทิศทาง ทำให้ประสิทธิภาพของยางลดลง จุดเด่นของดอกยางแบบทิศทางเดียว คือ สามารถไล่น้ำออกจากหน้ายางได้รวดเร็วกว่าแบบ 2 ทิศทาง ป้องกันอาการเหินน้ำ (Hydroplaning) ซึ่งจะทำให้ควบคุมบังคับรถได้ลำบาก และเกิดการลื่นไถลได้ง่าย
ยางแบบเรเดียลเป็นยางที่ทำให้รถยนต์มีความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่าการใช้ยางแบบอื่น ทั้งนี้ก็เพราะว่า ยางแบบเรเดียลมีแรงต้านการหมุนน้อยกว่าทำให้ใช้กำลังในการขับเคลื่อนน้อยลง นอกจากนี้ยางแบบเรเดียลยังมีการสึกหรอช้ากว่า เกิดความร้อนน้อยกว่า หน้ายางไม่มีการบิดตัวเมื่อสัมผัสกับถนน ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ หรือรถยนต์ที่รับภาระน้อยๆ เช่น รถเก๋ง หรือรถกระบะ โครงสร้างของยางแบบไดอะโกนัลไบแอส (Diagonal Bias) การวางผ้าใบแต่ละชั้นจะถูกวางจากขอบยางด้านหนึ่งไปยังขอบยางอีกด้านหนึ่ง โดยให้แนวของเส้นใยชั้นผ้าใบในแต่ละชั้นเอียงเป็นแนวทแยงมุมกัน
สำหรับในยางของรถยนต์นั่ง ยังมีแบ่งออกเป็นอีกหลากหลายลักษณะ เช่น ยางรถยนต์แบบสปอร์ต เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบความเร็ว เน้นความมั่นใจในการเกาะถนน การเบรกหยุด และการรีดน้ำที่ดีกว่า ยางที่ใช้ในรถแข่งที่เป็นทางเรียบและแห้ง หน้ายางจะไม่มีดอกยาง (ยาง Slick) หรือยางรถยนต์แบบวิ่งบนหิมะที่มีปุ่มสำหรับวิ่งบนหิมะโดยเฉพาะ เป็นต้น
วิธีสังเกตยางรถยนต์อย่างง่ายๆ
รหัสบอกขนาดยาง เช่น 205/60R15 91H
- 205 คือ ความกว้างของยาง ไม่ใช่ความกว้างของหน้ายาง (หน่วยเป็นมิลลิเมตร)
- 60 คือ ซีรีส์ หรือความสูงของแก้มยางทั้งหมด ไม่ใช่ส่วนที่ใส่กับกระทะล้อ แต่รวมขอบด้านในที่แนบกับกระทะล้ออยู่ด้วย เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จากความกว้างของยาง หรือตัวเลขกลุ่มแรก (ซีรีส์ระบุเป็น % ไม่ใช่มิลลิเมตร)
- R คือ ตัวย่อประเภทของยาง R-Radial จะหมายถึง เรเดียล ซึ่งก็คือยางที่มีเส้นลวด ในขณะที่ B จะหมายถึงแบบไบแอส ซึ่งก็คือผ้าใบหลายๆชั้น ซึ่งจะถูกวางขึงทับซ้อนกันในแนวทแยงมุมไปมาเพื่อเสริมความแข็งแรงซึ่งกันและกัน
- 15 คือ เส้นผ่าศูนย์กลางของล้อ (หน่วยเป็นนิ้ว) ซึ่งต้องพอดีกับยาง
- 91 คือ รหัสการรับน้ำหนัก ต้องดูในตารางเปรียบเทียบ เดาไม่ได้ มีหน่วยเป็นกิโลกรัม
- H คือ ความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนั้นวิ่งได้ ต้องดูในรูปเปรียบเทียบด้านล่าง เดาไม่ได้ พบอักษร S T U H V Z R บ่อย มีหน่วยเป็นกิโลเมตร/ชั่วโมง (เช่น “H” ยางรองรับความเร็วได้สูงสุด 210 กม./ชม.) แต่ก็ไม่ควรใช้ความเร็วจนถึงตามที่ระบุไว้เพื่อความปลอดภัย
คุณควรตรวจเช็คสภาพของยางรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ โดยการตรวจเช็คสามารถดูได้จาก สภาพ และอายุของยาง ในส่วนของสภาพยางนั้น ให้ดูจากดอกยางว่าเกิดการสึกมากน้อยแค่ไหน มีการบวมหรือไม่ โดยวิธีที่ผู้ผลิตยางรถยนต์ได้กำหนดไว้สำหรับการตรวจเช็คสภาพของดอกยางคือให้ดูจาก “สามเหลี่ยม” รอบๆ แก้มยาง ข้างละประมาณ 6 จุด ห่างกันประมาณ 60 องศาจากปลายมุมสามเหลี่ยม สามเหลี่ยมที่ว่านี้กำหนดขึ้นโดยผู้ผลิตยางรถยนต์เพื่อให้สังเกตว่าเมื่อดอกยางสึกจนเสมอกับสะพานยางนั่นหมายถึงเวลาที่ท่านควรเปลี่ยนยางรถยนต์ได้แล้ว แม้ว่ายางที่ท่านจะใช้ไม่ยังสึก แต่หากเลยอายุการใช้งานของยางไปแล้วก็สมควรเปลี่ยนเช่นกัน
ส่วนต่อมาคือดูจากอายุของยางรถยนต์โดยท่านสามารถดูได้ที่แก้มยางเช่นกัน โดยที่แก้มยางจะมีตัวเลขสี่หลักปั๊มไว้ โดยสองตัวแรกจะเป็นสัปดาห์ที่ผลิต และสองตัวหลัง คือปีที่ผลิตเช่น 1012 ก็คือผลิตเมื่อสัปดาห์ที่ 10 ปี 2012
การดูแลรักษา สามารถทำได้โดยหมั่นเช็กลมยางอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และหลีกเลี่ยงถนนหนทางที่ขรุขระ หลีกเลี่ยงการขับชนฟุตบาท นอกจากนี้ขณะออกรถไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ และออกตัวอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้ยางสึกเร็วกว่าปกติ และไม่ควรจอดรถชิดจนติดกับฟุตบาท เพราะอาจทำให้โครงยางชำรุด โดยปกติอายุของยางนั้นจะเริ่มนับตั้งแต่ถูกนำไปใช้งาน คือ หลังจากที่ยางประกอบเข้ากับกระทะล้อ และติดตั้งเข้ากับรถยนต์แล้วนำไปวิ่งใช้งาน ยางรถยนต์ทุกเส้นจะได้รับการรับประกันคุณภาพจากบริษัทผู้ผลิตแต่ละราย ซึ่งยางรถยนต์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปีหรือ 50,000 กิโลเมตร ถ้าเลยตามนี้ไปอันใดอันหนึ่ง ก็สมควรเปลี่ยนได้แล้ว เพราะอายุยางไม่ควรเกิน 5 ปีนับจากวันที่ผลิต เพราะน้ำยาที่เคลือบยางหมดอายุ ถึงจะเป็นยางใหม่ แต่ไม่ใช้ภายใน 5 ปี ก็จะหมดอายุการใช้งานโดยปริยาย
ล้อแม็ก
ล้อที่ติดมาให้กับรถยนต์นั้นก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของรถรุ่นที่เลือก มีหลากหลายประเภท หากเป็นรถรุ่นถูกสุด หรือรถกระบะรุ่นถูกๆ สำหรับใช้ในการขนส่งเป็นหลัก ก็จะใช้ล้อประเภทกระทะเหล็ก หากเป็นรถเก๋งธรรมดาทั่วๆ ไปก็จะเป็นล้ออัลลอย หรือล้อแม็กไปจนถึงรถระดับซุปเปอร์คาร์ที่ล้อแม็กมีขนาดใหญ่ มีทั้งชุบโครเมียม ล้อแม็กนีเซียม ฯลฯ ตามแต่จะเรียก ในปัจจุบันที่เป็นที่นิยม และขายดีมาก มีทั้งล้อแม็กสัญชาติไทย ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ฯลฯ ซึ่งแต่ละบริษัทก็คิดค้น สรรหา ผลิตลวดลายต่างๆ อันสวยงามโดนใจออกมาจำหน่ายกัน มีลวดลายต่างๆ สารพัด เดี๋ยวเราจะมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับล้อแม็กรถยนต์กันต่อเลยนะครับ เผื่อสำหรับใครหลายๆ คนที่ซื้อรถป้ายแดงมาแล้ว ล้อลายอาจจะไม่สวยถูกใจ หรืออยากจะเปลี่ยน ก็ลองอ่านดูกันก่อนได้
ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า ล้อรถของเรานั้นมี สเปคอย่างไรบ้าง
- ขนาดล้อรถกี่นิ้ว เช่น 13 – 20 นิ้ว เป็นต้น (ในยุคปัจจุบัน รถส่วนใหญ่ขนาดล้อจะเริ่มต้นที่ขนาด 14-15 นิ้ว ส่วนล้อ 13 นิ้วลงไปจะเป็นล้อที่ติดรถเล็กซะมากกว่า)
- ขอบล้อกว้างเท่าไหร่ที่เราต้องการ หรือ ตรงตามมาตรฐานรถเรา เช่น 5 – 10.5 นิ้ว ป็นต้น
- จำนวนรู PCD 4,5,6 รู ขนาด PCD เป็นเท่าไหร่
- Offset ของล้อรถ เช่น -10 , 0 , +15 , +25, +35 , +45
รูของล้อ และค่า PCD (หรือ Pitch Circle Diameter)
PCD หรือ Pitch Circle Diameter คือ คือระยะห่างระหว่างน็อตของล้อแม็กหรือ Offset โดยวัดจากกึ่งกลางรูน็อต ลากเส้นเป็นวงกลม และวัดผ่านเส้นผ้าศูนย์กลาง ที่ควรจะต้องตรงกับสเปคของรถ ล้อใหม่ที่เราจะเลือกใช้ ต้องตรงกับสเปคล้อรถเดิมของรถนั้นๆ ไม่ควรจะไปดัดแปลงใดๆ รถยนต์นั่งส่วนใหญ่จะมีน็อตล้อ 4 รู ส่วนรถใหญ่ หรือรถกระบะ มักจะมี 5 รู และ 6 รู เพื่อความแน่นหนาในการยึดล้อเข้าดุมล้อ เวลาคุณจะเลือกเปลี่ยนของใหม่ ก็ควรจะเป็นแบบเดียวกัน
รูกลางของดุมล้อ (Hub Ring)
รูกลางของล้อแม็ก มีลักษณะเป็นวงแหวน ที่เราจะนำมาใช้ใส่ตรงกลางล้อ (Centre Bore) ต้องพอดี ไม่คับหรือหลวมเกินไป เพื่อลดการสั่นของล้อลดลง ใช้ใส่เวลาเปลี่ยนล้อแม็กใหม่ หรือขับรถแล้วเกิดอาการสั่น หรือว่าเห็นมีช่องว่างระหว่างดุมล้อเท่านั้น
การรับน้ำหนัก
ควรเลือกล้อแม็กที่เหมาะสมกับการใช้งาน หรือการบรรทุกน้ำหนัก ไม่ใช่เอาล้อขนาด 13 นิ้ว มาใส่ในรถขนาดใหญ่ หรือล้อ 18 นิ้ว มาระเบิดซุ้มล้อ แล้วใส่ในรถขนาดเล็ก หรือล้อแม็กลายสวยๆ ก้านเล็ก สำหรับรถเก๋ง แต่มาใส่ในรถกระบะขนของซึ่งไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน หนักเข้าๆ แม็กก็แตกได้
ล้อแม็กที่ดีต้องต้องมีมาตรฐานในการผลิต เพราะเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัย ล้อแม็กที่ไม่ได้รับมาตรฐาน อาจก่อให้เกิดความเสียหาย เช่นการแตกร้าว การทนต่อน้ำหนักของรถไม่ไหว และแรงกระแทก หรือเกิดอุบัติเหตุได้ จึงได้มีสถาบันรับรองคุณภาพออกมาหลายสถาบัน แต่ทีมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับนั้น อาทิเช่น
- JWL และ JWL-T (Japan Light Alloy Wheel standard และ Truck & Bus) เป็นสถาบันในกระทรวง Land Infrastructure, Transport และ Tourism จากประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องทดสอบคุณภาพ และประทับตรา JWL ล้อทุกอันที่ผลิตจำหน่าย และล้อแม็กรถกระบะ ล้อรถบรรทุกก็เป็น JWL-T (Japan Light Alloy Wheel Truck & Bus)
- VIA (The Vehicle Inspection Association of Japan) เป็นสถาบันตรวจสอบตามมาตรฐานของ JWL
- AS (Australian Standard) เป็นสถาบันรับรองจากประเทศออสเตรเลีย คล้ายๆ กับของ มอก.ในบ้านเรา ซึ่งในล้อแม็กจะใช้เป็นมาตรฐานตั้งแต่ AS1638-2008
- TUV Certification (ชื่อเต็ม Technischer ?berwachungs Verein หรือ Technical Inspection Association ในภาษาอังกฤษ) หรือสถาบันรับรองความปลอดภัยของประเทศเยอรมัน คล้ายๆ กับของมอก.ในบ้านเรา
ในการทดสอบของแต่ละสถาบันจะไม่เหมือนกัน แต่ก็มีอยู่หลายขั้นตอนที่คล้ายกัน อาทิ ทดสอบความแข็งแรง ด้วยการใส่ยางเติมลมในระดับมาตรฐาน 2 บาร์ และทิ้งไว้ 10 นาที เพื่อทดสอบว่าลมยางอยู่ในระดับใด มีการรั่วซึมหรือไม่ จากนั้นจะนำเข้าสู่เครื่องทดสอบ ด้วยการปล่อยตุ้มน้ำหนัก ลงมากระแทกกับขอบล้อ แล้วทำการวัดแรงดันลมยาง ว่าจะต้องไม่มีการรั่วซึมภายใน 1 นาที ถอดยางออก และตรวจหารอยแตกร้าว ทดสอบความแข็งแรงของหน้าแปลนยึดดุมล้อ ความแข็งแรงของก้านล้อ ทดสอบสีของล้อ เป็นต้น แต่หากไม่ผ่านขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง บริษัทล้อแม็กก็ต้องนำล้อของตน กลับไปวิจัย แล้วพัฒนามาใหม่ จนกว่าจะผ่านมาตรฐานที่ยกตัวอย่างมาได้
หากคุณจะเลือกล้อแม็กสวยๆ ซักวงมาใช้งานนั้น ควรจะให้เลือกในแบบที่ราคาไม่แพงจนเกินไป รูปทรงสวย ดูเข้ากับตัวรถ และลวดลายไม่มากก็จะดี เพราะทำความสะอาดง่าย และต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานรับรอง ซึ่งล้อแม็กที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันนั้น ก็ยังมีหลายๆ อันที่ไม่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากทุกสถาบัน เพราะเป็นการเปิดโรงกลึงผลิตกันเอง ในขณะเดียวกันแม้จะพบว่า ล้อที่จำหน่ายนั้นมีตราเครื่องหมายรับรองก็ตาม ก็อาจจะกลายเป็นล้อปลอมที่ทำออกมาขาย ดังนั้นการเลือกซื้อล้อแม็ก จึงควรจำเป็นต้องซื้อล้อที่มีผู้ผลิต หรือร้านจำหน่ายเป็นผู้รับประกันคุณภาพ ง่ายกว่าการมานั่งหาตรา JWL หรือ VIA ที่บริเวณล้ออีก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.checkraka.com